top of page
53026407_154739722109424_804034876003267

โครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ 2562

ชื่อโครงการ : รวบรวมเมนูสร้างสรรค์จากเค็มบักนัด อาหารพื้นบ้านชาวอุบล

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2562

ณ ห้องประชุมยางนา ชั้น 1 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพรรษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

หลักการและเหตุผล

         อาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มนุษย์จำเป็นต้องใช้ในการเจริญเติบโตและพัฒนาทางด้านร่ายกายสติปัญญาจิตใจ ตลอดจนส่งเสริมสุขภาพอนามัยของมนุษย์ให้แข็งแรงสมบูรณ์ และอาหารไทยก็นับว่าเป็นอาหารที่ขึ้นชื่อในเรื่องของคุณค่าทางโภชนาการความหลากหลายและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ จนเป็นที่นิยมทั่วโลกไม่เพียงแต่มีรสชาติที่อร่อยกลมกล่อมหลากหลายรส แต่ยังบ่งบอกถึงคุณค่าของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของคนไทยในแต่ละท้องถิ่นที่สร้างสรรค์ ปรุงแต่งอาหารก่อให้เกิดรสชาติความอร่อยอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค ตามลักษณะวิถีชีวิตขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นซึ่งเป็นที่รู้จักในกันนาม “อาหารพื้นเมืองหรืออาหารพื้นบ้านของไทย”

          อาหารพื้นเมืองของไทยมีหลากหลายประเภท หลากหลายชนิด และรสชาติที่หลากหลาย ซึ่งแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันไปตามภูมิภาควัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นหรือได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมด้านอาหารของประเทศเพื่อนบ้านอาหารพื้นเมืองของไทยสามารถจำแนกคร่าวๆออกได้เป็น 4 ภาคคือภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ภาคกลางและภาคใต้ โดยปกติอาหารพื้นบ้านไทยเป็นอาหารที่ได้สมดุลทางโภชนาการผสมผสานลงตัวระหว่างชนิดและปริมาณของอาหาร การปรุงอาหารประเภทการต้ม แกง ยำ ตำ มีกระบวนการปรุงอาหารที่เรียบง่ายไม่พิถีพิถัน ใช้เวลาไม่มากใช้น้ำมันในการปรุงอาหารค่อนข้างน้อยมีการใช้เนื้อสัตว์ไม่มากส่วนมากแหล่งโปรตีนจะได้จากปลา ไก่ ไข่ หมูและสัตว์อื่นๆ บางชนิดในท้องถิ่นที่หาได้เครื่องปรุงล้วนเป็นสมุนไพรที่ได้จากธรรมชาติและที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นอาหารพื้นบ้านนานาชนิดที่หาได้จากท้องถิ่นจะถูกนำมาปรุงเป็นอาหารหรือนำมาเป็นเครื่องจิ้มกับอาหารประเภทน้ำพริกหรือหลนต่างๆ ส่วนความพึงพอใจในรสชาติอาหาริหรือความอร่อยของอาหารนั้นไม่มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัว อาหารพื้นเมืองของจังหวัดอุบลราชธานีจากอดีตจนถึงปัจจุบันมักจะมีการนำสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติทั้งพืชและสัตว์มาประกอบอาหารทั้งคาวหวาน เนื่องจากชาวอุบลราชธานีมีการดำเนินชีวิตโดยการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก มีชีวิตแบบเรียบง่าย เรื่องอาหารการกินของคนในชุมชนจึงไม่มีความซับซ้อนหรือยุ่งยาก กินง่าย อยู่ง่าย หาอะไรได้ก็นำมาประกอบอาหาร แต่ด้วยที่มีวัตถุดิบอันอุดมและหลากหลาย ทำให้ อาหารของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำมูนแห่งนี้มีความ โดดเด่นเฉพาะตัว  กับข้าวของชาวอุบลส่วนใหญ่มักจะเรียกชื่ออาหารตามประเภทของการปรุงตามด้วยชื่อพืชหรือสัตว์ที่เป็นส่วนประกอบหลักซึ่งสามารถจำแนกได้เป็น 4 ประเภทคือ ประเภทน้ำ เช่น แกงต้ม ประเภทไม่มีน้ำหรือมีน้ำน้อย ได้แก่ เอาะ อุ คั่ว หมก ฯลฯ ประเภทแห้งกรอบเช่น ปิ้ง จี่ และประเภทที่ถนอมไว้ เช่น ส้มเค็มบักนัด ไส้กรอก ฯลฯ อีกทั้งอาหารแต่ละประเภทยังมีกระบวนการในการผลิตที่แตกต่างกันและพิถีพิถันตลอดจนธรรมเนียมของการปรุงอาหารของชาวอีสานรวมถึงชาวอุบลนั้นมีความพิถีพิถันประณีตบรรจงมาก โดยเฉพาะอาหารคาวที่จะมีการปรุงรสชาติเพื่อกินกับข้าว และยังเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการอาหารอีกด้วย ซึ่งอาหารพื้นเมืองถือได้ว่าเป็นสื่อทางวัฒนธรรมรูปแบบหนึ่ง ของแต่ละท้องถิ่นโดยผู้คนในแต่ละถิ่นฐานจะมีวัฒนธรรมการบริโภคที่เป็นเอกลักษณ์ซึ่งสิ่งนี้เองที่เป็นความน่าสนใจและบ่อยครั้งที่ความเป็นเอกลักษณ์นี้ จะเป็นแรงจูงใจให้เกิดการท่องเที่ยวเกิดขึ้น

          และเมื่อกล่าวถึงอาหารพื้นบ้านชาวอุบล จะพบว่า “เค็มบักนัด” หรือ "เค็มหมากนัด" หรือ "เค็มสับปะรด"เป็นอาหารพื้นบ้านโบราณของชาวอุบลฯ มาช้านาน เป็นภูมิปัญญาในการถนอมอาหารของชาวบ้าน โดยการดองเค็มเพื่อให้สามารถเก็บไว้กินได้นานเป็นปี ซึ่งการทำเค็มบักนัดส่วนใหญ่จะเลือกใช้เนื้อปลาเทโพหรือปลาสวายติดหนัง นำมาหั่นเป็นชิ้นบางๆ แล้วนำมาคลุกเคล้ากับเกลือสินเธาว์ และเนื้อสับประรดสุกที่สับละเอียดไว้ คลุกเคล้าส่วนผสมทุกอย่างให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วบรรจุใส่ขวด ปิดฝาให้แน่น หมักดองเก็บไว้จนได้ระยะเวลาที่เหมาะสมก็นำมากินได้ นอกจากนี้ เค็มบักนัดเคยถูกจัดเป็นพระกระยาหารกลางวันฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ ณ หอประชุมศาลากลางจังหวัด เมื่อพระนางเจ้าฯ เสวยพระกระยาหารเสร็จแล้วสมเด็จพระนางเจ้าฯทรงมีพระกระแสรับสั่งว่าอาหารที่ชื่อว่าเค็มหมากนัดฟังจากชื่อคิดว่าเค็มแต่ไม่เค็มเลยอร่อยดีเมื่อพระกระแสรับสั่งนี้เผยแพร่ไปอย่างกว้างขวาง
          จากข้อมูลข้างต้นจะพบว่า เค็มบักนัด นับเป็นอาหารที่สามารถสะท้อนวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชาวอุบลได้เป็นอย่างดี และเพื่อเป็นการอนุรักษ์อาหารพื้นบ้านอยู่คู่กับอาหารไทยและอยู่คู่บ้านคู่เมืองของคนไทยตลอดไป ผู้จัดทำโครงการจึงเล็งเห็นความสำคัญของการจัดโครงการ “รวบรวมเมนูสร้างสรรค์จากอาหารพื้นบ้านชาวอุบล” เพื่อเป็นการอนุรักษ์และเผยแพร่องค์ความรู้และภูมิปัญญาด้านวัฒนธรรมอาหารของชาวอุบล ตลอดจนนำเสนอเมนูอาหารที่สร้างสรรค์จากอาหารพื้นบ้านเพื่อเพิ่มมูลค่าของอาหารให้สามารถนำเสนอในมิติความแตกต่าง แปลกใหม่และเป็นสากลเทียบเท่ากับอาหารจากชนชาติอื่นๆ ได้ ตลอดจนเล็งเห็นถึงโอกาสในการปลูกฝังค่านิยมการรับประทานอาหารที่ปรุงจากอาหารพื้นบ้านแก่เยาวชนรุ่นใหม่สืบไป

วัตถุประสงค์

     1. เพื่อศึกษาและรวบรวมเมนูอาหารสร้างสรรค์จากเค็มบักนัดอาหารพื้นบ้านชาวอุบล

     2. เพื่อเผยแพร่ข้อมูลให้แก่เยาวชนรุ่นใหม่และประชาชนทั่วไป

     3. เพื่อประโยชน์แก่การอนุรักษ์และสร้างความยั่งยืนของอาหารพื้นบ้านชาวอุบล

กลุ่มเป้าหมาย

          นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย นักศึกษาอุดมศึกษา บัณฑิตและศิษย์เก่าของคณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตลอดจนผู้ประกอบการธุรกิจอาหารและประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมนิทรรศการและ การบรรยายพิเศษจากวิทยากร จำนวนไม่น้อยกว่า 40 คน ตลอดจนผู้เข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขัน ทีมละ 3 คน จำนวน 10 ทีม รวมทั้งสิ้น 30 คน

สถานที่จัดกิจกรรม

          ห้องประชุมยางนา ชั้น 1 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพรรษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ผลที่คาดว่าจะได้รับในการดำเนินโครงการ

     1. ได้รายการเมนูอาหารสร้างสรรค์จากอาหารพื้นบ้านชาวอุบลสำหรับเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ให้ผู้สนใจทั่วไปสามารถนำไปประยุกต์เป็นอาหารประจำบ้านได้
     2. ได้เมนูอาหารสร้างสรรค์จากอาหารพื้นบ้านชาวอุบลสำหรับธุรกิจร้านอาหารสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ต่อไป
     3. นักเรียน นักศึกษาและเยาวชนรุ่นใหม่ ตลอดจนประชาชนทั่วไป มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารพื้นบ้านชาวอุบล
     4. นักเรียน นักศึกษาและเยาวชนรุ่นใหม่ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ตระหนักเห็นคุณค่าและความสำคัญของอาหารพื้นบ้านชาวอุบล
     5. มีการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมดั่งเดิมอันดีงานของประเทศไทย

43129116_10155605578185248_7966372140247

ผู้รับผิดชอบโครงการ

ดร.สิริรัตน์ ชอบขาย

ตำแหน่ง:  อาจารย์ 

สาขาวิชา / แผนก: การจัดการการโรงแรม

สังกัด: คณะบริหารศาสตร์

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

bottom of page